Mark Kent, the British Ambassador to Thailand

Mark Kent

British Ambassador to Argentina

27th August 2014

Beginning blogging again

ผมกลับมาเขียนบล็อกอีกครั้งหลังจากหายไปเกือบ 4 ปี ผมเคยเขียนเมื่อตอนเป็นทูตที่เวียดนาม จากนั้นมาผมก็ไปใช้ทวิตเตอร์  ตอนนี้ผมจะพยายามทำพร้อมๆกันทั้งสองอย่าง

Mark Kent

ในการเขียนบล็อกครั้งแรกนี้ผมจะพยายามเขียนเกี่ยวกับตัวผมครับ

ผมเติบโตจากหมู่บ้านเล็กๆในชนบทของประเทศอังกฤษที่แคว้นลิงคอล์นเชียร์ พ่อของผมเป็นเกษตรกรและก็ขับรถบรรทุก ส่วนแม่ของผมเป็นครู ผมเรียนในโรงเรียนประจำท้องถิ่น และมีโอกาสได้ไปเรียนกฏหมายที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และได้เรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายยุโรปและเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ประวัติการทำงานของผมดูได้ที่นี่  ผมเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิตการทำงานของผม และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง

บล็อกของผมเสนอความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวของผม ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นความเห็นของรัฐบาลอังกฤษ ผมจะพยายามอธิบายถึงนโยบายของสหราชอาณาจักรอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะเน้นที่ประเทศไทยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ผมจะพยายามเขียนบล็อกเป็นรายสัปดาห์

ดังนั้น ผมจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมโดยเกริ่นนำถึงสิ่งที่ผมเชื่อมั่นและประเด็นต่างๆที่ผมจะเขียนถึง

  •  ด้านสถาบันพระมหากษัตริย์  ในฐานะเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยผมเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ผมได้เข้าเผ้าพระองค์สองครั้งก่อนปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเอกอัครราชทูต สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ผมเทิดทูนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี และผมก็ตระหนักถึงความจงรักภักดีอันท่วมท้นที่ประชาชนชาวไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมในระยะเวลาที่ผ่านมาและเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ เช่น เมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงปรากฏพระองค์ในกีฬาโอลิมปิกลอนดอน 2012   ความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีนาถไม่ได้เกิดจากการใช้กฏหมายใดบังคับ  คนที่ไม่นิยมสถาบันพระมหากษัตริย์มีจำนวนน้อย แต่พวกเขาได้รับเสรีภาพในการยึดมั่นกับความเห็นของตน ผมเชื่อในการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องเลือกระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย ทั้งสองอยู่ด้วยกันได้อย่างดี
  • ด้านประชาธิปไตย โดยย่อ ดังที่อับราฮัม ลินคอล์นกล่าวไว้ว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ประชาธิปไตยนั้นไม่สมบูรณ์แบบ โดยอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิลเคยกล่าวไว้ว่า เป็นระบบการปกครองที่แย่ที่สุด ถ้าไม่นับระบบอื่นทั้งหมดที่ได้ลองกันมา นอกจากนั้น ประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกก็แตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมก็คือ รัฐบาลเป็นตัวแทนที่แท้จริงของเจตจำนงแห่งผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งมวล
  •  ด้านหลักนิติธรรม ทุกคนควรมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย กฎหมายให้สิทธิและหน้าที่ซึ่งควรนำไปใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำพูดของลอร์ดแอคตัน  ที่ว่าอำนาจมักทำให้เกิดการฉ้อโกง และอำนาจเบ็จเสร็จก็ทำให้เกิดการฉ้อโกงอย่างเบ็จเสร็จ
  • ความเสมอภาคของโอกาสในสังคม โดยไม่สนใจภูมิหลังทางสังคม สถานที่ เพศ ชาติพันธุ์ หรือรสนิยมทางเพศ การยอมรับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของทุกส่วนในสังคมในการพัฒนาและการปกครอง
  • เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการท้าทายและการแสดงความเห็นที่แตกต่างอย่างสันติเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาในทุกสังคม นำมาซึ่งทัศนะที่แตกต่างกันและสำนึกการมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าจะก่อให้เกิดสังคมที่มีพลวัต เจริญรุ่งเรือง และมีนวัตกรรม สื่อมวลชนและสื่อสังคมก็มีบทบาทที่สำคัญ
  •  ผมขอเตือนว่าผมเป็นแฟนฟุตบอลและแฟนสโมสรอาร์เซนอลตัวยง…

ผมตระหนักดีว่าประเทศของผมนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบ มีข้อบกพร่องและจุดอ่อนหลายประการ (เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆทุกประเทศ) แต่ผมเชื่อว่าเราจะเข้มแข็งขึ้นทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสังคม จากการแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ต่างๆ เราสามารถเรียนรู้ได้มากจากทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จของเรา ประวัติศาสตร์สอนเราหลายอย่าง แต่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีสิ่งท้าทายต่างๆเกิดขึ้น เราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่รอบตัวเรา

ผมจะแบ่งปันความคิดเห็นในประเด็นต่างๆในสัปดาห์ต่อๆไป ในบล็อกจะมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ผมยินดีรับความคิดเห็นและคำถามต่างๆจากคุณ กรุณาเคารพผู้อื่นและงดใช้ในทางที่ผิด ข้อกำหนดและเงื่อนไขของเราดูได้ที่นี่ คุณสามารถติดตามผมได้ทางทวิตเตอร์ที่ @KentBKK และติดตามสถานทูตได้ที่ @UKinThailand และ UKinThailand เฟซบุ๊ก

8 comments on “Beginning blogging again

  1. ถามท่านฑูตว่า
    ๑. รัฐบาลอังกฤษจะรับรองสถานะของรัฐบาลเผด็จการที่ตั้งขึ้นมาโดบ คสช.หรือไม่
    ๒. อังกฤษ จะวางเฉย หรือ สนับสนุน การต่อสู้ ของกลุ่มประชาชนที่ต่อสู้กับคณะรัฐประหาร ที่ใช้ชื่อว่า เสรีไทย หรือไม่ อย่างไร
    ๓. อังกฤษ (สหราชอาณาจักร์) จะให้ความช่วยเหลือ กลุ่มกองกำลังใต้ดินของประชาชนที่ไม่ยอมรับ การปกครองของ คสช.หรือไม่ แค่ใหน หากมีการลุกฮือ ต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธ ของประชาชนกลุ่มนี้เกิดขึ้น

    ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

    พิชิต.

  2. ขอให้ข้อเขียน และเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านนำเสนอ ได้เปิดตาเปิดใจความมืดมนในจิตใจของคนบางกลุ่มบางพวกด้วยเถิด

  3. ตอนนี้อายุมากขึ้นเริ่มเข้าใจและรู้สึกว่าแท้ที่จริงคนที่อยู่สุูงๆของประเทศไทยนี้ใจแคบ ไม่ยอมรับคำวิจารณ์ความคิดเห็นที่แตกต่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดจิตใจที่ยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัด หาความยุติธรรมจากพวกเขาไม่เจอเลย ชอบฟังแต่คำสอพลอเยินยอ คอยตามลบความจริง บีฑาคนพูดความจริง ถ้าไม่จริงทำไมไม่ชี้แจงง

  4. ๑ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะนิยม หรือไม่นิยมพระมหากษัตริย์ แต่ความไม่นิยมนั้นไม่ได้มอบสิทธิ์ให้คุณกล่าวร้าย ด้วยเรื่องราวเท็จ ข้อมูลที่หลอกลวง โดยพระมหากษัตริย์ไม่มีโอกาส หรือสิทธิ์ในการตอบโต้ การกล่าวร้ายแก่บุคคลทั่วไปยังมีโทษทางอาญา การลงโทษแก่คน หรือคณะบุคคล ที่กล่าวร้ายจาบจ้วง จึงเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่ง
    ๒ ระบบประชาธิปไตย เป็นระบบที่เลวร้ายที่สุด แต่ดีกว่าระบบอื่นถูกต้องแล้ว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าดีกว่าระบบอื่นในสังคมด้อยพัฒนา หรือประชาชนขาดการศึกษา และเงินยังเป็นใหญ่ อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น ไม่ได้เริ่มต้นประชาธิปไตยโดยทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียงได้ แต่พัฒนาตามกาลเวลาที่ผ่านไป หากประเทศไทยสามารถทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกำจัดการซื้อสิทฺธิ์ขายเสียงได้ผมจะเห็นด้วยกับระบบนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่ผมคิดว่าประเทศไทยยังไม่พร้อม
    ๓ เห็นด้วยครับ ทุกอย่างควรตรวจสอบได้
    ๔เห็นด้วยกับเสรีภาพในสังคม และควาามเสมอภาคในสังคม แต่มีเครื่องหมายคำถามใหญ่มาก กับเสรีภาพในการออกเสียงเลือกตั้ง โดยไม่มีพื้นฐานความรู้และความเข้าใจ
    ๕ผมเป็นแฟนบอลทีมชาติไทย

    ไม่มีประเทศใดในโลกที่สมบูรณ์แบบ แต่การหลีกเลี่ยงการนองเลือดเพื่อไปสู่เสรีภาพที่ทุกคนคิดว่าสวยงามนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เรามีตัวอย่างมากมายให้ดูจากหลายประเทศทั่วโลก ให้โอกาสเราเถิดครับในการนำพาประเทศไปสู่จุดนั้น ไม่ใช่ให้โอกาสเราเฉพาะตอนทีต้องรบกับเวียตนาม เกาหลี โดยไม่บ่นว่าเรามีรัฐบาลทหาร

    ผมไม่ใช่นักการเมือง ไม่เคยคิดจะเล่นการเมือง รวมถึงไม่ยอมให้ลูกหลานเล่นการเมืองเป็นอันขาด ผมเกิดในสลัมโดยเพื่อนๆ ของผมทุกคนไม่มีโอกาสเรียนเกิน ป๔ แต่โชคดีเหมือนท่านที่ได้เรียนจากการทำงานด้วยตัวเอง แต่ประเทศไทยมีคนกว่า ๕๐% ที่ไม่มีโอกาสเช่นท่าน และผมครับ

    ผมรักประเทศไทย ประเทศไทยที่สงบสุขคือประเทศที่สวยงาม และเพรียบพร้อมที่สุดในโลกไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับประเทศใด ทั้งความอุดมสมบูรณ์ ภัยธรรมชาติที่น้อยนิด รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนที่มีพื้นฐานเป็นคนดีมีนำ้ใจมาตั้งแต่เกิด

    ด้วยความเคารพ

  5. ขอ อ่านเนื้อความ ฉบับต่อๆ ไปก่อนนะครับ

    แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ อยากขอความอนุเคราะห์ท่าน ช่วยได้ กล่าวถึง..

    บทสัมภาษณ์ของ นักการเมืองอังกฤษระดับกลางจาก ทั้งสองฝั่ง เกี่ยวกับ แรงบันดาลใจ ในการมาเป็น นักการเมือง และ ประโยชน์ ที่นักการเมือง ทำให้ประเทศ ..

    ขอขอบคุณ ไว้ ณ โอกาสนี้

Comments are closed.

About Mark Kent

Mark Kent graduated in Law from the University of Oxford. He gained a Master’s degree in European Law and Economics from the Université Libre de Bruxelles in Belgium, and has…

Mark Kent graduated in Law from the University of Oxford. He gained a
Master’s degree in European Law and Economics from the Université Libre
de Bruxelles in Belgium, and has a postgraduate qualification in
Business Administration from the Open University. He has studied Thai at
Chiang Mai University, Khon Kaen University and Chulalongkorn
University.

Mark Kent joined the FCO in 1987 and has spent most of his career
working with the emerging powers of South East Asia and Latin America,
and with the European Union. He is a Fellow of the Institute of
Leadership and Management and has language qualifications in Thai,
Vietnamese, Spanish, Dutch, French and Portuguese.

Mark Kent took up his appointment in August 2012.