This blog post was published under the 2015 to 2024 Conservative government

Mark Kent, the British Ambassador to Thailand

Mark Kent

British Ambassador to Argentina

27th November 2015

เส้นทางสู่สนธิสัญญาฉบับใหม่ด้านภูมิอากาศของโลก

wind-turbines-947172_1920

ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้จะมีการเจรจาเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติรอบต่อไปที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แม้ว่าจะมีการเจรจารอบต่างๆในแต่ละปีอยู่แล้ว แต่การประชุมในปีนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสิ่งสำคัญที่เปรียบเสมือนรางวัลที่เราจะได้รับก็คือ สนธิสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศฉบับใหม่ ซึ่งจะมีข้อผูกพันตามกฎหมาย เราจะบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ และสนธิสัญญาฉบับนี้จะมีความท้าทายอย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อพวกเราทุกคน

การประชุมนี้คืออะไร

สมาชิกจำนวน 196 ประเทศภายใต้สมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้แสดงเจตจำนงร่วมกันว่า ควรมีการตกลงเรื่องสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่กรุงปารีส ซึ่งจะต้องมีข้อผูกพันทางกฎหมาย และสามารถนำไปใช้ได้กับทุกประเทศ เป้าหมายสูงสุดของข้อตกลงนี้คือ การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงกว่าระดับ 2 องศาเซลเซียส

ในช่วงที่ผ่านมา มีประเทศสมาชิกจำนวน 163 ประเทศได้ประกาศเจตจำนงแล้วว่า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง ผมดีใจที่ประเทศไทยได้ยื่นแสดงเจตจำนงไว้แล้วเมื่อเดือนก่อน โดยกำหนดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงให้ได้ถึง 20% นี่คือการเริ่มต้นครั้งสำคัญ สหราชอาณาจักรและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก็จะหาแนวทางที่จะช่วยเหลือประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้ด้วย

ทำไมสนธิสัญญาฉบับนี้จึงมีความสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดอย่างหนึ่งที่โลกเราเผชิญอยู่ นี่ไม่ใช่เพียงภัยต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง การพัฒนา และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่งต่อผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ของกรมอุตุนิยมของอังกฤษระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2643 (ค.ศ. 2100) นี้หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ภูมิภาคนี้จะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น

  • ภัยแล้งจะมีช่วงเวลาต่อเนื่องยาวขึ้นอีก 5%
  • อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชั้นในจะเพิ่มขึ้นอีก 77%
  • น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกจะลดลงถึง 8% (ขณะที่ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 10%)

ประเทศไทยได้เคยประสบปัญหาน้ำท่วมชายฝั่งทะเลและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในหลายพื้นที่มาแล้ว ผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจจะเลี่ยงได้หากมีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ค่าใช้จ่ายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะลดน้อยลงหากทุกประเทศร่วมมือกัน และวิธีที่ได้ผลดีมากที่สุดก็คือ การมีสนธิสัญญาซึ่งมีความโปร่งใสและมีกฎเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวด

สนธิสัญญานี้ต้องบรรลุเป้าหมายใด

สนธิสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศฉบับใหม่ซึ่งจะจัดทำขึ้นที่กรุงปารีสนี้ต้องมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ ในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน สร้างความมั่นใจแก่รัฐบาลและนักลงทุนต่างๆ และช่วยคงระดับอุณหภูมิโลกให้อยู่ภายใน 2 องศาเซลเซียส

สนธิสัญญาฉบับใหม่นี้จะช่วยสร้างโอกาสต่างๆมากมาย เช่น ส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับคาร์บอนต่ำ ช่วยให้การลงทุนด้านพลังงานสะอาดในเชิงเศรษฐกิจคุ้มค่าต่อการลงทุนมากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นการเติบโตของสังคมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ

แต่เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น ถ้าประเทศสมาชิกต้องการทำให้สนธิสัญญาฉบับใหม่มีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ สนธิสัญญาฉบับนี้ต้องมีสาระสำคัญคือ

  • มีเป้าหมายที่ท้าทาย คือ มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดจากการพัฒนาแนวเดิม (ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนกันตามปกติ) ไปสู่แนวคิดที่ยอมรับว่าสังคมที่มีการพัฒนาโดยปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำเป็นทางเลือกสำหรับอนาคต
  • มีความน่าเชื่อถือ คือ ควรจะมีกระบวนการตรวจสอบความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 5 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละประเทศมีความก้าวหน้าจริง
  • มีข้อผูกพันตามกฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ที่สามารถนำไปปรับใช้กับทุกประเทศเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความมั่นใจในการลงทุนที่ประเทศจำเป็นต้องมี
  • มีเป้าหมายระยะยาว คือ มีเจตจำนงที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างยั่งยืนและเกิดขึ้นได้ในระยะยาว
  • มีเงินอุดหนุนอย่างเหมาะสม คือ ประเทศสมาชิกต้องมั่นใจว่ามีเงินทุนเพียงพอในการช่วยเหลือให้ประเทศที่ยากจนและเปราะบางสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดจากการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้

สหราชอาณาจักรทำอะไรบ้าง

ประเทศของเราก็มีส่วนร่วมด้วย สหภาพยุโรปได้แสดงเจตจำนงที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) สหราชอาณาจักรจะทำให้ได้มากกว่านั้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้มากกว่า 50% ภายในปี พ.ศ. 2573 และ ที่ระดับ 80% ภายในปี พ.ศ. 2593 เราได้ร่วมมือกับสหภาพยุโรปและนานาชาติที่ต้องการให้มีการลงปฏิบัติอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพจากทุกประเทศ

สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้เงินบริจาคมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีความเปราะบางให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและปรับตัวต่อผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ เราตั้งเป้าที่จะบริจาคเงินจำนวน 44,800 ล้านปอนด์ในช่วงปี พ.ศ. 2553-2559

ในประเทศไทย เราได้สนับสนุนโครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนหลายโครงการ เช่น เรื่องแนวทางการพัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการพัฒนาเครื่องมือที่แสดงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของไทย ร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นแบบจำลองที่ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนของไทยในอนาคตสามารถทำอย่างไรได้บ้างโดยอาศัยนโยบายด้านพลังงานและการใช้ที่ดิน

การประชุมที่กรุงปารีสคือจุดจบของปัญหาทั้งหมดหรือเปล่า

สนธิสัญญาฉบับเดียวไม่อาจแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ เป้าหมายของเราในการประชุมที่กรุงปารีสก็คือ เราต้องการให้ทุกประเทศได้แสดงเจตจำนงที่จะช่วยหาแนวทางจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้อยู่ภายในระดับ 2 องศาเซลเซียส สนับสนุนภาคเอกชนให้เป็นตัวขับเคลื่อนในการหาแนวทางระยะยาวในการแก้ปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และช่วยเหลือประเทศยากจนและประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้

หลังจากการประชุมที่กรุงปารีสแล้ว ประเทศสมาชิกทั้งหมดจำเป็นต้องพิจารณาว่าแต่ละประเทศสามารถทำอะไรได้อีกบ้างเพื่อช่วยผลักดันให้มีการเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้สูงขึ้น – ทุกประเทศมองว่าเจตจำนงที่นำเสนอไว้ที่กรุงปารีสเป็นเป้าหมายในระดับต่ำที่สุด ไม่ใช่ระดับสูงสุด ที่จะบรรลุได้ อย่างไรก็ตามภาระนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เป็นภาระสำคัญที่เป็นไปได้ หากทุกประเทศร่วมมือกันอย่างจริงจัง

About Mark Kent

Mark Kent graduated in Law from the University of Oxford. He gained a Master’s degree in European Law and Economics from the Université Libre de Bruxelles in Belgium, and has…

Mark Kent graduated in Law from the University of Oxford. He gained a
Master’s degree in European Law and Economics from the Université Libre
de Bruxelles in Belgium, and has a postgraduate qualification in
Business Administration from the Open University. He has studied Thai at
Chiang Mai University, Khon Kaen University and Chulalongkorn
University.

Mark Kent joined the FCO in 1987 and has spent most of his career
working with the emerging powers of South East Asia and Latin America,
and with the European Union. He is a Fellow of the Institute of
Leadership and Management and has language qualifications in Thai,
Vietnamese, Spanish, Dutch, French and Portuguese.

Mark Kent took up his appointment in August 2012.