This blog post was published under the 2015 to 2024 Conservative government

Mark Kent, the British Ambassador to Thailand

Mark Kent

British Ambassador to Argentina

15th September 2015

วันที่ 15 กันยายนของทุกปีเป็นวันประชาธิปไตยสากลของสหประชาชาติและบรรดาชาติสมาชิก

หลังการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว อังกฤษและสมาชิกอื่น ๆ ในประชาคมนานาชาติ รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้มีการคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่ถึงบัดนี้ ประชาธิปไตยกลับดูห่างไกลออกไปกว่าเดิม ประชาธิปไตยมีข้อดีอย่างไร เราไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยเพราะต้องการบังคับใช้ระบบการเมืองแบบตะวันตกกับใคร แต่เราสนับสนุนประชาธิปไตยเพราะระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนำมาซึ่งประโยชน์มากมายต่างหาก

ในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนล้วนมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง หรือแม้กระทั่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงมอบอำนาจในระดับหนึ่งให้ประชาชนในการตัดสินใจต่าง ๆ ที่มีผลต่อชีวิตของพวกเขา หากประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและยุติธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสันติและเป็นไปตามกำหนดเวลา ก็มีโอกาสน้อยลงที่พวกเขาจะหันไปใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งหรือเพื่อแสดงความคิดเห็น ที่ใดที่ค่านิยมประชาธิปไตยได้รับการเชิดชู ที่นั่นย่อมมีความเจริญรุ่งเรือง และความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงต่าง ๆ ย่อมมีน้อยที่สุด

ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้นำได้เอง ดังนั้น รัฐบาลประชาธิปไตยจึงต้องตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนหากอยากได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง ในประเทศที่ไร้ประชาธิปไตย เป็นการง่ายที่รัฐบาลจะให้ความสนใจกับประโยชน์ส่วนตนมากกว่าจะบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของพลเมือง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยทำให้เกิดการแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรและการเข้าถึงอำนาจอย่างเป็นธรรมมากกว่า

รัฐบาลประชาธิปไตยถูกกำหนดให้ต้องมีความรับผิดชอบ เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตน เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสในการคอร์รัปชันจึงลดลง นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังกำหนดให้รัฐบาลต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม ซึ่งหมายความว่ากฎหมายจะมีผลต่อทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่เว้นแม้แต่ต่อรัฐบาลเอง หลักนิติธรรมเป็นสิ่งสำคัญเพราะขณะที่หลักนี้เคารพความต้องการของเสียงข้างมาก แต่ก็ยังปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคลและกลุ่มเสียงข้างน้อยด้วย

ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม เรื่องนี้ชาวอังกฤษเข้าใจดี เพราะเราเองไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ สิ่งที่เรามีคือรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ประมวลไว้และไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญ ๆ มากกว่า

ยกตัวอย่างเช่นนักการเมือง หลายคนเอาแต่โทษนักการเมืองและพรรคการเมืองว่าเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหลายในประเทศ นักการเมืองนั้นมีทั้งดีและไม่ดี เช่นเดียวกับที่ในสังคมย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี แต่พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในระบอบประชาธิปไตย พรรคเป็นผู้นำประเด็นต่าง ๆ ที่เราห่วงใยไปแปรเป็นนโยบายสาธารณะ พรรคเป็นผู้ฝึกอบรมผู้นำทางการเมือง พรรคช่วยทำให้ตัวเลือกในการเลือกตั้งง่ายขึ้นสำหรับผู้ลงคะแนน พรรคช่วยให้ข้อมูลกับผู้เลือกตั้ง และเมื่อตกเป็นฝ่ายค้าน พรรคการเมืองก็เป็นผู้สังเกตการณ์และตรวจสอบการทำงานของพรรครัฐบาล แน่นอนว่าเพื่อให้ระบบทั้งหมดนี้ทำงานได้ดี พรรคการเมืองจำเป็นต้องรักษาความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับชุมชน และคอยฟังเสียงของประชาชนเสมอ นอกจากนี้พรรคการเมืองยังต้องให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ให้ทุกคนเข้าถึง และพรรคต้องสะท้อนสังคมในวงกว้าง

สาระสำคัญของวันประชาธิปไตยสากลของสหประชาชาติในปีนี้คือ “พื้นที่เพื่อประชาสังคม” องค์ประกอบของประชาสังคม (เช่น สื่อเสรี องค์กรการกุศล เอ็นจีโอ องค์กรศาสนา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ) ล้วนมีบทบาทสำคัญในความเป็นประชาธิปไตย ประชาสังคมเป็นเกราะสำคัญช่วยป้องกันอำนาจรัฐที่มากเกินไป เมื่อประชาสังคมเข้มแข็งเพียงพอก็จะสามารถควบคุมรัฐบาลให้มีความรับผิดชอบ และดูแลให้พลเมืองได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อพวกเขา เพราะเหตุนี้ เราจึงเป็นกังวลเมื่อรัฐบาลต่าง ๆ สร้างข้อจำกัดเพื่อควบคุมกิจกรรมของประชาสังคม การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนประการหนึ่ง ในประเทศไทย การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกในรูปแบบที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือการใช้กฎหมายอาญาหมิ่นประมาทเพื่อสร้างความกลัวและป้องกันไม่ให้ประชาชนแสดงความกังวลแม้จะเป็นไปโดยสมเหตุสมผลเกี่ยวกับการกระทำผิดและการใช้อำนาจโดยมิชอบ

เมื่อกลางปีผมได้เขียนบล็อกเกี่ยวกับการที่อังกฤษได้ฉลองครบรอบ 800 ปีกฎบัตรแมกนา คาร์ตา สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการฉลองครั้งนั้นคือ ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมต้องใช้เวลานานในการหยั่งรากลึก พวกเราในอังกฤษเองก็ยังคงพยายามอยู่อย่างต่อเนื่อง ในอังกฤษเรามีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างเต็มที่เปิดเผย ในประเด็นต่าง ๆ เช่น เรื่องสมาชิกภาพของสภาขุนนาง ซึ่งก็คือวุฒิสภาของอังกฤษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เรายังอภิปรายกันว่าเราควรจะนำระบบเลือกตั้งแบบไหนมาใช้ เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น การปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ไม่จบสิ้น ระบบการเมืองต่าง ๆ ควรวิวัฒนาการไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้น ๆ

สิ่งสำคัญคือการมีพื้นที่สำหรับการถกเถียงและคัดค้าน ขณะที่ประเทศไทยกำลังเริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกันอีกครั้งเช่นนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการอภิปรายอย่างเต็มที่และเสรีในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย

About Mark Kent

Mark Kent graduated in Law from the University of Oxford. He gained a Master’s degree in European Law and Economics from the Université Libre de Bruxelles in Belgium, and has…

Mark Kent graduated in Law from the University of Oxford. He gained a
Master’s degree in European Law and Economics from the Université Libre
de Bruxelles in Belgium, and has a postgraduate qualification in
Business Administration from the Open University. He has studied Thai at
Chiang Mai University, Khon Kaen University and Chulalongkorn
University.

Mark Kent joined the FCO in 1987 and has spent most of his career
working with the emerging powers of South East Asia and Latin America,
and with the European Union. He is a Fellow of the Institute of
Leadership and Management and has language qualifications in Thai,
Vietnamese, Spanish, Dutch, French and Portuguese.

Mark Kent took up his appointment in August 2012.