12th March 2015
Annual Human Rights Report for 2014 รายการสิทธิมนุษยชนประจำปี 2557
วันนี้อังกฤษได้เปิดตัวรายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2557 (Annual Human Rights Report for 2014) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงบทบาทของอังกฤษในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนทั่วโลก พร้อมทั้งกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้สำเร็จ
เหตุใดอังกฤษจึงให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอย่างมากเช่นนี้ คำตอบง่าย ๆ ก็คือ เพราะการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมอันเสรี เท่าเทียม และเจริญรุ่งเรือง ประเทศใดที่หวังจะไปสู่จุดนั้น จำเป็นต้องเปิดช่องให้มีการตรวจสอบและซักฟอกผู้มีอำนาจได้ นอกจากนี้ยังควรมีพื้นที่ให้กับความคิดเห็นในทางตรงกันข้ามเกี่ยวกับระบบการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรืออันที่จริงก็คือในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการนี้คือการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม การที่มีเพียงฝ่ายเดียวหรือกลุ่มเดียวครอบงำการสนทนาระดับชาติย่อมไม่ใช่เรื่องดี และนี่คือเหตุผลที่เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากปราศจากสิทธิเหล่านี้แล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบได้เพียงพอ และประเทศก็อาจดำดิ่งลงไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวกและฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างรวดเร็ว แนวคิดของหลักนิติธรรม (ความเข้าใจว่าอำนาจไม่ได้มีไว้ให้ใช้ตามใจชอบโดยไร้การควบคุม ว่ารัฐต้องสามารถตอบคำถามของประชาชนได้ และว่ากระบวนการที่ชอบธรรมเป็นสิ่งจำเป็น) เป็นแนวคิดที่ได้รับบัญญัติไว้ในการลงนามกฎบัตรแมกนาคาร์ตาซึ่งมีอายุครบรอบ 800 ปีในปีนี้ กฎบัตรโบราณซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างกษัตริย์อังกฤษสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 กับเหล่าขุนนางผู้ท้าทายพระองค์ฉบับนี้ยังคงมีสาระเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน สำหรับหลักการของการแข่งขันทางการเมืองนั้น หลักนิติธรรมและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นยังคงเป็นรากฐานของสังคมที่เจริญและเที่ยงธรรม รวมทั้งเศรษฐกิจฐานความรู้มูลค่าสูงในปัจจุบันอีกด้วย
ประเทศที่มีความมั่นใจย่อมมองความคิดเห็นอันหลากหลายเป็นอิทธิพลในเชิงบวก แนวคิดและข้อถกเถียงดี ๆ ควรชนะแนวคิดที่ไม่ดีเสมอ และการแลกเปลี่ยนนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะในสังคมที่มีเสรีภาพอย่างแท้จริงซึ่งรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย การนำเสนอทางเลือกระหว่างความขัดแย้งรุนแรง กับการลิดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เป็นตัวเลือกจอมปลอมที่ไม่น่าก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม แต่เรายังมีทางเลือกสายกลาง การถกเถียงโดยสันติและการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างน่าจะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น และนำไปสู่ทางออกที่ทุกคนได้มีส่วนร่วม
นี่คือข้อถกเถียงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกดังที่รายงานสิทธิมนุษยชนปี 2557 ได้แจกแจงไว้ ไม่มีประเทศใดสมบูรณ์แบบ เราชาวอังกฤษทราบว่าประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของเราก็ใช่ว่าจะขาวสะอาด และเราก็กำลังพยายามพัฒนาอยู่เสมอ กระบวนการนี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างประเมินค่ามิได้จากภาคประชาสังคมที่จริงจังและมุ่งมั่นในเป้าหมายให้รัฐบาลของเราต้องรับผิดชอบต่อการกระทำ และปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ประเทศไทยก็มีข้อผูกมัดระหว่างประเทศแบบเดียวกันนี้จำนวนมาก รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งออกแบบมาเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน รวมทั้งหลักการของเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมด้วย เมื่ออยู่ภายใต้กฎอัยการศึกบางครั้งไม่มีการยึดถือหลักการเหล่านี้ ถึงแม้รายงานสิทธิมนุษยชนปี 2557 ไม่ได้ชี้ว่าประเทศไทยเป็น “ประเทศที่น่าเป็นห่วง” ลำดับต้น ๆ (ซึ่งหมายถึงประเทศที่เราเป็นกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน) แต่รายงานก็ได้วิเคราะห์เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกและผลของกฎหมายนี้ที่มีต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
ในฐานะมิตรประเทศของไทย เราเชื่อว่าประเทศไทยควรตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าเพียงแค่เอาชนะบรรดาประเทศที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนย่ำแย่ที่สุดได้เท่านั้น หากไทยมุ่งหวังจะแข่งขันในระดับโลก และเป็นผู้เล่นที่ได้รับความนับถือและมีบทบาทเชิงรุกในประชาคมนานาชาติแล้วนั้น ไทยจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และสร้างความมั่นใจว่าความเห็นที่กว้างขวางและหลากหลายเป็นส่วนหนึ่งในการสนทนาระดับชาติ สิ่งนี้ไม่เพียงสำคัญต่อการรักษาภาพด้านบวกของประเทศไทยในระดับนานาชาติเท่านั้น แต่ยังจะช่วยยืนยันความสำเร็จในระยะยาว ขณะที่ประเทศไทยพยายามสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ระดับสูง และสังคมที่เสรีและรุ่งเรือง