This blog post was published under the 2010 to 2015 Conservative and Liberal Democrat coalition government

Mark Kent, the British Ambassador to Thailand

Mark Kent

British Ambassador to Argentina

12th December 2014

Real rights for real people สิทธิที่แท้จริงสำหรับประชาชนที่แท้จริง

“เทศกาลประจำปีสิทธิมนุษยชนอีสาน ครั้งที่ 7”
“เทศกาลประจำปีสิทธิมนุษยชนอีสาน ครั้งที่ 7”

สัปดาห์นี้ผมได้เดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่นเพื่อร่วมงาน “เทศกาลประจำปีสิทธิมนุษยชนอีสาน ครั้งที่ 7” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม เพื่อร่วมฉลองวันสิทธิมนุษยชนสากล งานนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นทั้งนักเคลื่อนไหวในชุมชนท้องถิ่นมากหน้าหลายตา ตลอดจนเพื่อน ๆ นักการทูตจากสถานทูตแคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา สวีเดน และสหภาพยุโรป

ปีนี้ไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับสิทธิมนุษย

ชนในประเทศไทย มีการจำกัดเสรีภาพอย่างมากในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ (รวมถึงเซ็นเซอร์ตัวเอง) ของสื่อมวลชน องค์กรอิสระ และสถาบันการศึกษา  ผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือเกิดการลดทอนคุณภาพของการถกอภิปรายในระดับประเทศเกี่ยวกับการปฏิรูปซึ่งตอนนี้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์กำลังดำเนินการอยู่   ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ผมว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ไปภาคอีสานและฟังความคิดเห็นของนักเคลื่อนไหวที่นั่น ซึ่งมีมุมมองหลายอย่างที่ไม่ค่อยจะได้รับฟังในกรุงเทพฯ   สำหรับตัวผมเองก็ดีใจที่ได้กลับไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกครั้ง เพราะผมเคยเรียนภาษาไทยที่นั่นอยู่หลายเดือน

ผมโตมาในหมู่บ้านเล็ก ๆ  จึงรู้เกี่ยวกับความยากลำบากที่ชุมชนห่างไกลต้องเผชิญ และรู้ว่าพวกเขาถูกมองข้ามและถูกมองเหมือนเป็นเด็ก ๆ ที่ต้องคอยปกป้องอย่างไร   ผมเชื่อมั่นในเรื่องโอกาสและเสียงที่เท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน รวมถึงการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมาย  ลอนดอนไม่ใช่ประเทศอังกฤษ และกรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่ประเทศไทย  ผมประทับใจที่ได้เห็นผู้สูงอายุลุกขึ้นเล่าเรื่องความยากลำบากของตัวเอง และเรื่องความตั้งใจที่จะทำให้อะไร ๆ ดีขึ้น  พวกเขาอาจจะขาดโอกาสการศึกษาในโรงเรียน แต่พวกเขาไม่โง่  พวกเขาต้องการให้ลูกหลานและชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น  และพวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะต้องการแบบนั้น

ในงานนี้ผมได้พูดเรื่องความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกที่มีต่อวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง  เสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย เป็นสิทธิสำคัญที่จะทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเพียงพอ และสามารถลงคะแนนเสียงตามที่ตนเองสนใจได้  หากไร้ซึ่งสิทธิเหล่านี้ และไม่มีโอกาสให้ถกเถียงกันแล้ว การกลับสู่การเลือกตั้งใด ๆ ก็ไร้ความหมาย  คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติกล่าวว่าได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการเมืองโดยผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติและกิจกรรมอื่น ๆ ในท้องถิ่น  อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่านักเคลื่อนไหวหลายคนในอีสานรู้สึกว่าเขาไม่มีโอกาสเปล่งเสียงให้ใครได้ยิน เนื่องจากมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นักเคลื่อนไหวคนหนึ่งบอกผมว่ารู้สึกเหมือนคนท้องถิ่นถูกบังคับให้รอในขณะที่กองทัพจัดการปฏิรูปให้ มากกว่าจะได้มีส่วนร่วมในกระบวนการนั้นอย่างกระตือรือร้น

นอกจากนี้ ที่ปรากฏชัดอีกอย่างก็คือ ชาวบ้านหลายคนรู้สึกว่าการควบคุมต่าง ๆ ในปัจจุบันกำลังเริ่มคุกคามชีวิตประจำวันของพวกเขา ชาวนาที่กังวลเกี่ยวกับปัญหาปากท้องไม่สามารถจะชุมนุมประท้วงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลได้  กลุ่มท้องถิ่นต่าง ๆ ที่กำลังดิ้นรนปกป้องสิทธิในที่ดินจากการหาผลประโยชน์ของบริษัทขนาดใหญ่ในพื้นที่ ก็ไม่สามารถรณรงค์ต่อต้านหรือได้รับความยุติธรรม  พวกเขารู้สึกว่าไม่สามารถแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้  หากปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและความโปร่งใสในการตัดสินใจแล้ว ความอยุติธรรมและการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็สามารถเกิดขึ้นได้  ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมมีผลกระทบอย่างจริงจังต่อชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ประชาชนทุกคนควรจะต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีโอกาสร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างเต็มที่  และมีส่วนในการตัดสินใจต่างๆ ที่จะกระทบต่อชีวิตของตนเอง  ประชาธิปไตยยังถือว่ารัฐบาลอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม และประชาชนทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และสิทธิของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองโดยระบบกฎหมาย  ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนสากลอยู่หลายฉบับ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งควรจะคุ้มครองหลักการประชาธิปไตยเหล่านี้  แต่ภายใต้กฎอัยการศึก หลักการเหล่านี้กลับไม่ได้รับการยึดถือ หากประเทศไทยต้องการเป็นสมาชิกประชาคมโลกที่ได้รับความเคารพและมีบทบาทแข็งขัน ก็จะต้องจัดการกับประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง  หมู่บ้านต่าง ๆ ในอีสานอาจจะไม่คุ้นเคยกับอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติ แต่พวกเขาก็ควรได้รับประโยชน์จากสิทธิต่าง ๆ ตามอนุสัญญาในชีวิตประจำวัน

แน่นอน ผมไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่ได้ปฏิบัติตามพันธะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้แสดงให้เห็นแล้วว่าประชาธิปไตยในโลกตะวันตกก็ต้องเผชิญปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของตนเองเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม เป็นเพราะวัฒนธรรมประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้แข็งแรง จึงมีพื้นที่ให้โต้แย้ง ถกเถียง และตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การหาความรับผิดชอบ

ผมรู้สึกยินดีที่ได้พบนักเคลื่อนไหวที่ตื่นตัวและทุ่มเทจำนวนมากในขอนแก่น  และอยากขอบคุณผู้จัดงานที่มุ่งมั่นเดินหน้าให้เทศกาลนี้จัดขึ้นได้ แม้ขณะที่งานในลักษณะคล้าย ๆ กันต้องถูกยกเลิกไปภายใต้แรงกดดันในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา  ผมเชื่อว่างานเช่นนี้ ซึ่งเปิดรับฟังข้อกังวลและแนวคิดที่แท้จริงของชุมชนต่าง ๆ มีคุณค่าเท่าเทียมกับ หรืออาจจะมากกว่า งานที่จัดแสดงยิ่งใหญ่ในโรงแรมห้าดาวในกรุงเทพฯ โดยมีแขกร่วมงานจากนานาชาติ และเชิญบรรดานักการทูตไปร่วมเห็นชอบ งานแบบที่ขอนแก่นนี้ทำให้แน่ใจว่าสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยระดับชาติในไทยถึงแม้เราจะอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก หวังว่าเราจะได้เห็นความคืบหน้าในหลายประเด็นที่พูดคุยกันที่เทศกาลทันก่อนถึงวันสิทธิมนุษยชนในปีถัดไปครับ

About Mark Kent

Mark Kent graduated in Law from the University of Oxford. He gained a Master’s degree in European Law and Economics from the Université Libre de Bruxelles in Belgium, and has…

Mark Kent graduated in Law from the University of Oxford. He gained a
Master’s degree in European Law and Economics from the Université Libre
de Bruxelles in Belgium, and has a postgraduate qualification in
Business Administration from the Open University. He has studied Thai at
Chiang Mai University, Khon Kaen University and Chulalongkorn
University.

Mark Kent joined the FCO in 1987 and has spent most of his career
working with the emerging powers of South East Asia and Latin America,
and with the European Union. He is a Fellow of the Institute of
Leadership and Management and has language qualifications in Thai,
Vietnamese, Spanish, Dutch, French and Portuguese.

Mark Kent took up his appointment in August 2012.