Site icon Foreign, Commonwealth & Development Office Blogs

The Costs of Corruption – ต้นทุนของการทุจริต

UN_logo_colors

9 ธันวาคมเป็นวันต่อต้านการทุจริตโลก การทุจริตเป็นปัญหาระดับโลกที่ทำร้ายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และกสังคมของประเทศ การทุจริตเพิ่มต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการทำธุรกิจและปิดกั้นโอกาสของบริษัทขนาดเล็กที่มีทรัพยากรน้อยกว่าจากการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การทุจริตส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของทุกคน การทุจริตส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในสังคมเพราะมันทำให้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีจำกัดหันเหจากกลุ่มคนที่จำเป็นมากที่สุดไปยังกลุ่มคนที่มีอำนาจทางการเงินและทางการเมืองที่มากกว่า เราไม่ควรอายที่จะพูดถึงการการทุจริตอย่างตรงไปตรงมา ผลการสำรวจความคิดเห็นเมื่อไม่นานมานี้โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในประเทศไทย อ้างว่า “การทุจริตได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความคิดผู้คนในประเทศไทยและการฉ้อโกงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้” เมื่อเร็วๆ นี้เราได้เห็นการตื่นตัวด้านการเมืองที่เพิ่มขึ้นเรื่องการทุจริตในประเทศไทยผ่านกระบวนการต่อต้านการทุจริตทั้งบนท้องถนนและการถกกันในสื่อสังคมออนไลน์ ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตได้ยึดครองพื้นที่ในระบอบการเมืองไทยมากขึ้น รัฐบาลชุดปัจจุบันกล่าวว่าการต่อต้านการทุจริตเป็นวาระสำคัญ เราทุกคนอยากจะเห็นการดำเนินการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง การทุจริตไม่ได้เป็นเพียงอุปสรรคต่อการทำธุรกิจแต่ยังกีดขวางการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศใน Corruption Perception Index โดย Transparency International ปี พ.ศ. 2557  คะแนนของประเทศไทยด้านการทุจริตในภาครัฐอยู่ที่ 38 จาก 100 (โดยที่ 0 คะแนนหมายถึงการทุจริตมาก และ 100 คะแนนหมายถึงปราศจากการทุจริต) จากทั้งหมด 28 ประเทศในเอเซียแปซิฟิค ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 12 เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ประเทศไทยปีนี้ได้เลื่อนลำดับขึ้นจากปีที่แล้วแต่ยังคงมีอีกหลายอย่างที่ต้องดำเนินการ

การทุจริตเป็นปัญหาระดับโลกรวมถึงประเทศอังกฤษด้วย หลายคนมองว่าการทุจริตเกิดจากความล้มเหลวด้านศีลธรรม บางคนมองไกลไปกว่านั้นโดยมองว่าการทุจริตขึ้นอยู่กับปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ การทุจริตเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่ขึ้นกับตัวบุคคล และการขาดการเข้าถึงข้อมูล รวมไปถึงกระบวนการบริการสาธารณะที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน การต่อสู้กับการทุจริตในระบบบริการสาธารณะต้องอาศัยระบบราชการที่จะเปลี่ยนผ่านกระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนและขึ้นกับตัวบุคคล ไปยังระบบที่ใช้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและง่ายต่อการเข้าใจ ความโปร่งใสและความเรียบง่ายเป็นศัตรูตัวสำคัญของการทุจริต อย่างไรก็ตามการทุจริตไม่ใช่งานของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากทุกภาคส่วนของสังคม ดิจิทัลเทคโนโลยีที่เร็วขึ้น ถูกลง และโปร่งใสมากขึ้น ทำให้ข้อมูลส่งผ่านอย่างมีอิสระมากขึ้นและเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้น รวมทั้งยังถูกตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ได้สร้างแรงกดดันและส่งเสริมให้มีการลงโทษอย่างจริงจังหากตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิด

บทบาทของภาคเอกชนก็สำคัญเช่นกันในการที่จะตัดตอนการให้สินบน ถ้าบริษัทต่างๆ ปฎิเสธที่จะให้สินบนผลที่ได้ไม่เพียงแต่ลด “ต้นทุน” การทำธุรกิจในระยะยาวและยังสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ยังหวังว่าจะช่วยลดการรับสินบนในที่สุด ประเทศอังกฤษมีพระราชบัญญัติป้องกันการทุจริต (UK Bribery Act) ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายต่อต้านการทุจริตที่รุนแรงที่สุดในโลก สิ่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นตัวบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรในการต่อสู้กับการทุจริตแต่ยังเป็นเครื่องรับรองว่าใครก็ตามที่ทำธุรกิจกับบริษัทอังกฤษจะรู้ว่าพวกเขากำลังธุรกิจกับบริษัทที่ถูกกำหนดให้มีมาตรฐานด้านจริยธรรมสูงสุด พวกเราที่สถานทูตอังกฤษกำลังดำเนินการเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อสนับสนุนผู้ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เราได้สนับสนุนโครงการของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยและแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต ขณะนี้หลายบริษัทได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะใช้กฎเกณฑ์ของแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต และพวกเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทราบว่าประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Construction Sector Transparency Initiative (CoST) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กระบวนการการก่อสร้างภาครัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น เราทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย คณะกรรมการของ CoST และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการส่งเสริมศักยภาพที่จะสนับสนุนการนำ CoST มาปรับใช้กับประเทศไทย ผมขอจบด้วยสิ่งที่ผมพูดไว้ในตอนแรกว่าเราไม่ควรอายที่จะพูดถึงการการทุจริตอย่างตรงไปตรงมา ผมนึกถึงคำพูดอันน่าประทับใจของ ลอร์ด แอคตัน (Lord Acton) ที่ว่า “อำนาจฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น” การทุจริตเกี่ยวข้องอย่างมากกับระบบอุปถัมภ์และความไม่เท่าเที่ยมกันของโครงสร้างทางการเมือง ด้วยเหตุนี้การต่อสู้กับการทุจริตจึงต้องอาศัยพลังร่วมกันจากทุกภาคส่วนในสังคม และการตระหนักว่าการต่อสู้เรื่องการทุจริตเป็นความท้าทายของทุกคน ผู้ที่ทำผิดข้อหาการทุจริตจะต้องถูกลงโทษทางกฎหมายไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใคร ตำแหน่งใด หรือมีฐานะทางสังคมเช่นไร สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้คนเห็นว่ามีความยุติธรรมในสังคม การทุจริตคือการใช้อำนาจในทางที่ผิด การกำจัดการทุจริตจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนถ้ามีหลักนิติธรรม มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิผล การมีส่วนร่วมจากสาธารณะและความรับผิดชอบ เราจะสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มที่ในการดำเนินการเพื่อไปสู่ระบบนั้น

Exit mobile version