ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 มีผลต่อเศรษฐกิจ แต่ทันทีภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ผมได้พบกับนักธุรกิจไทยและอังกฤษซึ่งมองในแง่ดีว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจน่าจะกลับมาสู่ประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเริ่มหลุดพ้นจากภาวะตกต่ำ
อย่างไรก็ตามนักธุรกิจอังกฤษที่ทำธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลานานคาดการณ์ว่าน่าจะมีการเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติอาจจะถูกนำขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง หลังจากถูกระงับไว้ในปีพ.ศ. 2550
ดูเหมือนว่านักธุรกิจจะคาดการณ์ถูกในทั้งสองประเด็น ความเชื่อมั่นทางธุรกิจได้กลับมาแล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวเร็วเท่าที่ต้องการก็ตาม และขณะนี้ได้มีการเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ทั้งสองสิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกัน ถ้าข้อเสนอเรื่องการแก้ไขนี้ผ่าน โอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยก็จะมีความเป็นไปได้น้อยลง
สำหรับคนที่ไม่ทราบเรื่องนี้มากนัก พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวกำหนดข้อจำกัดเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการ ซึ่งจำกัดการถือหุ้นของต่างชาติอยู่ที่ร้อยละ 49 ผลก็คือ นักลงทุนจากต่างประเทศจะเลือกที่จะถือหุ้นบุริมสิทธิ์เพื่อควบคุมธุรกิจและเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูง โครงการจัดฝึกอบรมต่างๆ และความมั่นคงของแบรนด์
มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงนิยามความหมายของธุรกิจต่างด้าวภายใต้เงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดการป้องกันการถือหุ้นบุริมสิทธิ์ของนักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการควบคุมธุรกิจของตนเอง คล้ายกับเมื่อปีพ.ศ.2550 ที่ทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักลงทุนต่างประเทศในประเทศไทย หอการค้าต่างประเทศ และคนไทยหลายคนซึ่งเชื่อในเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมและบรรดานักการทูตจากสถานทูตอื่นๆเกิดความกังวล ซึ่งความวิตกของเรานั้นรวมไปถึงความเสี่ยงเนื่องจากกระบวนการการแก้ไขอาจไม่ได้ตระหนักถึงความกังวลของกลุ่มนักลงทุนด้วย ผมหวังว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น
แต่สิ่งที่ผมไม่ค่อยเข้าใจคือ เหตุใดถึงเกิดข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงตอนนี้
ประเทศไทยมุ่งมั่นจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และก็ควรจะเป็นเช่นนั้น รัฐมนตรีต่างๆของไทยกล่าวอยู่ทุกวันถึงแผนการลงทุนในด้านสาธารณูปโภค การศึกษา เศรษฐกิจแบบดิจิทัล การวิจัยและการพัฒนา เขาพูดถึงการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และบริษัทอังกฤษมีความสามารถหลากหลายที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วน เช่น เทคโนโลยี ประสบการณ์การจัดการโครงการที่แข็งแกร่ง และความสร้างสรรค์ชั้นนำของโลก
เทคโนโลยี ความรู้ นวัตกรรม เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่ประเทศไทยแสวงหา เพื่อยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ และยังมีอีกหลายสิ่งที่บริษัทจากต่างประเทศมอบให้ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เมื่อก่อนประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองจากการรับการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการผลิต ซึ่งสร้างการจ้างงานและความมั่งคั่งให้กับคนไทย
แต่มีความเสี่ยงที่ทางการไทยจะก้าวถอยหลังในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อาจเกิดผลเสียระยะยาวสำหรับคนไทยในรุ่นต่อไป
นักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกมากมายในการตัดสินใจว่าจะลงทุน ทั้งในด้านการเงิน เทคโนโลยี และการจ้างงานต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนบ้านของไทยในอาเซียนกำลังพัฒนาเศรษฐกิจโดยการเพิ่มสิ่งดึงดูดให้มากขึ้น โดยยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในทางตรงกันข้ามข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างด้าวอาจทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนลดลง นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องการนำเทคโนโลยีขั้นสูงและแบรนด์ที่มีชื่อเสียงไปเสี่ยง ถ้าเขาไม่สามารถควบคุมได้ การสร้างงานและการเจริญเติบโตก็จะไปที่อื่น
ไม่เพียงแต่การลงทุนจากต่างชาติในอนาคตที่จะได้รับผลกระทบ ข้อเสนอในการเปลี่ยนพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างด้าวอาจจะมีผลต่อการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน บริษัทต่างชาติซึ่งหลายพันบริษัทที่มีการจ้างงานไทยหลายแสนตำแหน่งหรืออาจจะเป็นล้านตำแหน่งอาจจะได้รับผลกระทบ นักลงทุนปัจจุบันอาจตัดสินใจชะลอแผนการลงทุนในขณะที่ทางการไทยต้องการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ บางรายอาจเลือกที่จะถอนการลงทุนเพราะเกรงจะถูกยึดธุรกิจ ในทางกลับกันอาจทำให้บริษัทแสวงหาสิ่งตอบแทนภายใต้พันธกรณีการค้าและการลงทุนต่างประเทศซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกมัดอยู่
ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเลือกระหว่างการใช้โอกาสนี้เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และเพิ่มโอกาสในการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
หรือจะเลือกทางเดินที่ต่างออกไป